วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

“ความน่าจะเป็น” ที่ปราบดา หยุ่นอาจไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นสำหรับผู้อ่าน

วันนี้ปลวกมีฤกษ์มีชัยในความครึ้มอกครึ้มใจขนาดหนัก อยากกล่าวถึงนักคิดนักเขียนผู้หนึ่งซึ่งมีอิทธิพลในดวงใจตัวเองดูบ้าง ความรู้สึกหนึ่ง ปลวกอยากให้บุคคลผู้เพลี่ยงพล้ำมาอ่านบทความนี้เกิดความรู้สึกระริกระรี้ตามด้วยประการทั้งปวง สำหรับใครนิยมตัวผลงานนักเขียนท่านนี้อยู่แล้ว จงขอให้เกิดความชมชื่นต่อไม่รู้วาย ใครอยากกลับไปหยิบงานระดับมาสเตอร์พีชถึงไส้ติ่ง (สำหรับปลวก) แทะซ้ำโลมซ้ำ สำเร็จความใคร่ในห้วงอารมณ์ศิลป์ก็เชิญตามแต่สะดวก หรือใครยังไม่ได้อ่านไม่ได้แทะก็จงอ่านจงแทะเสีย
คงมีนักอ่านจำพวกปลวกหลงเหลือ ณ จักรวาลไม่มากก็น้อย สำหรับปลวกผู้เป็นกบฏในชีวิตตนเองทั้งชาติ แน่นอน หากมีใครหยิบหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งพร้อมกับคำสาธยายว่ามันดีหนักหนา หรูหราอย่างโน้นอย่างนี้ยาวเหยียด วางโปะอยู่ตรงหน้าแล้วขืนใจให้กิน สาบานได้ว่าปลวกไม่มีวันแทะเด็ดขาด จนกว่าห้วงเวลาจักขับเคลื่อนพ้นผ่านสักสอง-สามปีดีดัก เมื่อโชคชะตาทำให้ปลวกมีวิวัฒนาการเป็นยิ่งกว่าหนอน จึงถึงคราวตัดสินใจหยิบหนังสือ “ความน่าจะเป็น” ของปราบดา หยุ่นลองแทะดูอย่างพิรี้พิไร ปลวกอ่านมันด้วยความรู้สึกทึ่งกึ่งเพ้อละเมอกึ่งฝัน พลันฉุกคิดขึ้นว่าวรรณกรรมเล่มใดจักมีคุณค่ามหาศาลตระการตา สมควรถูกแทะโดยนักอ่านผู้มีคุณภาพผู้เต็มอกเต็มใจอ่านมันเท่านั้น ปลวกไม่ได้เหยียดหยามผู้ไม่รักการอ่านหน้าไหนทั้งสิ้น แต่ก็ขอคอนเฟิร์มว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นจริงในทางโลก
ด้วยความที่ปลวกไม่สนเสียงนกเสียงกาเสียงหมาเสียงแมว ไม่เคยคิดค้นหาคำวิจารณ์ใดในกูเกิ้ล “ความน่าจะเป็น” ของปราบดา หยุ่น จึงละมุนละไมในความน่าจะเป็นของปลวก ด้วยความคิดลวกๆ น่ารักน่าชังดังนี้ บทความซึ่งปลวกตั้งใจเค้นมันจากมันสมองตั้งแต่ต้นจนจบย่อมไม่มีการอ้างอิงถึงนักวิชาการหรือมารผจญคนไหนทั้งสิ้น ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าปลวกอ่านรวมเรื่องสั้น “ความน่าจะเป็น” ซ้ำสามรอบได้แล้ว ขณะเรื่องสั้นบางเรื่องในเล่ม ปลวกอ่านมันเกินกว่าสามหรือสี่ครั้งพอประมาณ ด้วยความทระนงในศักดิ์ศรี ปลวกคิดว่าตนมีศักยภาพมากพอสำหรับวิจารณ์โดยไม่จำเป็นต้องยึดหลักวิชาการข้อใด
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาและอารมณ์ ปลวกขออนุญาตเขียนถึงเรื่องสั้นอันปลวกหลงใหลมากที่สุดเท่านั้น เชื่อเถอะ ช่วงชีวิตอันเลยล่วง ปลวกไม่เคยเสียเวลากับสิ่งซึ่งตนชอบปานกลางและชอบเฉยๆ มากมายนัก ปลวกสนใจพินิจแต่สิ่งซึ่งปลวกชอบที่สุดกับเกลียดที่สุดพอเป็นกระษัย แม้มันแลดูถือตนเป็นใหญ่ แล้ววิถีอักษรบนแป้นพิมพ์ ใครคือคือพระเจ้าเหนือความรู้สึกตัวเองกันเล่า...ถ้าไม่ใช่ปลวก และแล้วหวยที่ออกมีสามเรื่องสามรสด้วยกัน อันได้แก่เรื่องสั้นชื่อเดียวกับชื่อเล่ม “ความน่าจะเป็น” ชื่อเรื่องงๆ อย่าง “ตามตาต้องใจ” และชื่อเรื่องสวยงามอย่าง “มารุตมองทะเล” โอเค ได้เวลาจริงจังแล้ว

เรื่องสั้นทั้งสามเรื่องเบื้องต้นต้องเรียกว่ากระโดดผุดขึ้นจริงอะไรจริง สำหรับ “ความน่าจะเป็น” ปลวกสรุปได้ว่า “กระดาษของฉันตก ฉันจึงก้มลงไปเก็บ”
ต้องยอมรับตามตรงและรู้สึกผิดภายหลังครั้งอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้เพียงหน้าแรก ปลวกคงคิดเช่นมนุษย์ผู้ชอบตัดสินทุกสิ่งอย่างฉาบฉวยเกลื่อนหล้านภาลัย เผลอคิดไกลถึงขนาดว่า หนังสือที่อยู่ๆ ก็มีเครื่องหมายวงเล็บเปิดขึ้นมาโดยไม่มีวงเล็บปิดนั้นสามารถแหวกป่าชัฏไพรเขียวแทรกเล่มอื่นเข้าสู่เส้นตายรอบสุดท้าย และคว้าเล่มเดียวเล่มเด่นเล่มดังรางวัลซีไรท์มาครองได้อย่างไร ด้วยความอยากรู้สุดขีด ด้วยเสียงกรอกหูรอบข้างบอกสองขั้วว่าหนังสือเล่มดีจริง-หนังสือเล่มนี้เลวจริง ปลวกอ่านพรวดจนเกือบจบ ในที่สุดก็พลันพบเครื่องหมายวงเล็บปิดจนได้ สรุปใจความของเรื่องทั้งหมดอีกครั้งเมื่ออ่านซ้ำ จริงๆ วงเล็บเปิดซึ่งปราบดา หยุ่นจงใจสร้างไว้ในเรื่องสั้น “ความน่าจะเป็น” ถือเป็นเรื่องท้าทายวงการวรรณกรรมอย่างหนึ่ง เช่นหลายคนตระหนักนานแล้ว หากนั่นยังเป็นการท้าทายวิธีคิดอันยังตกผลึกไม่สมบูรณ์ของนักอ่านอย่างตรงไปตรงมาอีกด้วย
มันก็เหมือนกับเวลาเราทำสิ่งของอะไรบางอย่างตกพื้น ระหว่างก้มเก็บ...มีเหตุการณ์ประเภทไหนในอดีตกรีดขึ้นซ้อนความทรงจำในปัจจุบันขณะบ้าง ชีวิตตัวละครมีความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันในปัจเจกแห่งเรื่องราว ปราบดา หยุ่นไม่ได้แค่ต้องการสร้างจุดแปลกแหวกขนบประการเดียว ไม่ว่าเขาจะตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ปราบดา หยุ่นได้ดึงนักอ่านอย่างปลวกเข้าสู่ชีวิตของคนคนหนึ่งชนิดหลุบลึกกลมกล่อมปนหอมหวาน ไม่แปลกใจถ้ามันจักติดตรึงดวงใจปลวกเนิ่นนาน
นอกจากสัจธรรมการครุ่นคำนึงถึงขั้นตกผลึกเป็นแก่นก้อนแล้ว แง่เทคนิคแปลกใหม่ วิธีการเล่าเรื่องราวซ้อนเครื่องหมายวงเล็บยังมีสัญลักษณ์ “หลัก” ซ่อนอยู่ แล้วสัญลักษณ์นั้นบอกอะไรเรา? นั่นแหละ คำถามอันต้องการคำตอบเป็น “ปัจเจก” เฉกเช่นกัน เพราะปราบดา หยุ่นไมได้ยัดเยียดสิ่งใดให้เราค้นพบคำตอบเป็นรูปแบบตายตัว หากได้ทิ้งสัญญะให้เราคิดตั้งคำถามของใครของมัน ของฉันอย่างนี้ ของเธออีกอย่าง สัญลักษณ์ในเรื่องสั้นจึงไม่ต่างจากปัจเจกชนเสมือนชีวิตของ “ฉัน” ในเนื้อเรื่อง คำถามซึ่งปลวกตั้งและไม่รู้ว่ามันซ้ำใครหรือเปล่า คำถามนั้นคือระหว่างเราเคลื่อนไหวชีวิตอยู่ในสังคมกลวงๆ กลมๆ ใบนี้ เราเคยทำอะไรหล่นลงพื้นบ้างหรือไม่ คำตอบก็คือเคย (บางคนอาจปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่เคย—นั่นมันสิทธิ์ของคุณ) แล้วระหว่างก้มเก็บ เราเคยฉุกคิดถึงคุณค่าของมันบ้างหรือไม่
พอก้มเก็บแล้ว เคยมีเรื่องราวใดผลึกขึ้นในความทรงจำเราบ้างไหม ไม่ว่ามันจะใหญ่เท่ามหาสมุทร หรือเล็กกระจิดเท่าเข็ม เรื่องราวเหล่านั้นย่อมมีที่มาที่ไปทั้งแน่ชัดและเลือนราง ถึงไม่อาจรำลึกได้ในทันที ถึงเวลากลับผนวกย้อนกลับเสียยาวนานถึงรากเหง้าได้เสมอ แล้วมันน่าตั้งคำถามทิ้งท้ายเอาไว้ไม่น้อยไหมล่ะว่า ถ้าผู้ทำสิ่งของอะไรบางอย่างตกพื้นนั้นเขาก้มเก็บมันโดยไม่รู้สึกรู้สาไม่รู้เนื้อรู้ตัวต่อเรื่องราวอื่นใดในชีวิตตนเองเลยล่ะ เขาเป็นคนประเภทไหนกันแน่ ปลวกนั่งนึกนอนนึกอยู่นาน ในที่สุดก็ตระหนักว่า “เขา” คือคนประเภทไม่มีจริงในโลกยังไงล่ะ!
ถึงเขาจะปฏิเสธน้ำลายฟูว่า ทำอย่างไรได้...ก็ชีวิตฉันมันไม่มีอะไรให้ต้องคิด ปฏิกิริยาครั้งเกิดขึ้นระหว่างก้มเก็บสิ่งของซึ่งทำตกหล่นย่อมเรียกว่าการหลงลืม ใช่ “การหลงลืม” ก็คือสถานการณ์หนึ่งของความทรงจำ
ทำไมต้องเก็บกระดาษ? ปลวกตั้งคำถามใหม่เมื่ออ่านทวนซ้ำครั้งสาม เราสามารถคิดต่อได้ไหมว่า อ๋อ ที่จริงกระดาษแผ่นนี้ก็คือเรื่องราวชีวิตของ “ฉัน” ในเรื่องนั่นเอง อาจเป็นเรื่องสั้นซึ่ง “ฉัน” กำลังเขียนส่งบรรณาธิการนิตยสารรายสัปดาห์ หรือให้เข้ากับเนื้อเรื่องหน่อยก็อาจเป็นบทโฆษนาเรื่องใหม่ซึ่ง “ฉัน” เพิ่งเขียนจบแน่ๆ
“ฉันจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง” นั่นสิ เปลี่ยนแปลงจากอะไร แม้ว่าประโยคดังกล่าวไม่ใช่ประโยคสุดท้ายของเรื่องสั้นเสียทีเดียว ทว่ามันเหมือนเป็นคำถามที่ปราบดา หยุ่นเผลอตั้งเอาไว้ มันยังไม่มีคำตอบชัดเจนสำหรับใครทั้งนั้น มันอาจย้อนแย้งกับเนื้อหาในเรื่องอยู่พอควร เพราะ “ฉัน” ในเนื้อเรื่องได้เปลี่ยนแปลงมากตามลำดับชั้น (ซึ่งอาจมากเหลือเกินสำหรับบางคน) ตั้งแต่เล็กจนโต คำถามนี้ปลวกตกผลึกได้ลึกนัก มันคล้ายชีวิตมนุษย์ทุกผู้ทุกคนนั่นแหละ เราไม่รู้หรอกว่าการวาง “กรอบเก่า” ไว้กับความทรงจำในวัยเยาว์จะถูกแปรสภาพเป็น “กรอบใหม่” เมื่อไหร่ ชีวิตของ “ฉัน” ในเรื่องก็เช่นกัน แล้วเราจำเป็นด้วยหรือที่จะห้ามตัวเองไม่ให้คิดกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งดั่งใจปรารถนา ห้ามไม่ให้จดบันทึกสิ่งที่ตัวเองคิด แม้ว่าในอนาคตความคิดนั้นจะไม่เหมือนเดิมก็ตาม
ในเมื่อขณะนั้นเราคิดไม่เหมือนกันกับตอนนี้ แล้วเราเองก็แทบจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเราคิดอะไรอยู่ เหตุผลซึ่งปลวกสามารถคิดไกลได้ร้อยแปดพันอย่างหลังอ่านเรื่องสั้น “ความน่าจะเป็น” ถึงขนาดเผยอตนว่าสามารถวิพากษ์วิจารณ์มันได้ลึกถึงแก่น นั่นเพราะ “ช่องว่าง” ในเรื่องสั้นที่ปราบดา หยุ่นได้เว้นไว้ยาวเหยียด แน่นอน เราสามารถเติมคำตอบได้ไม่ซ้ำกัน ที่สำคัญเขาก็ไม่ได้เขียนเอาไว้ตรงไหนสักหน่อยว่าตอบแบบนี้ผิด-ตอบแบบนั้นถูก
หากปลวกคิดแล้วไม่เขียนบทวิจารณ์นี้เอาไว้แต่เนิ่นๆ เป็นไปได้หรือไม่...วันหนึ่งปลวกอาจลืมความคิดตนเองทั้งหมด วิถีชีวิตอันคาดเคลื่อนตามจุดหักเหบ่อยครั้งอาจเปลี่ยนระบบการคิดวิเคราะห์ของปลวกใหม่ทั้งหมดทั้งมวล ปลวกอาจเที่ยวบอกใครๆ เสียงดังว่า “ความน่าจะเป็น” เป็นเรื่องสั้นอันหาอะไรดีไม่ได้เลยแม้แต่ขี้เล็บ ปลวกอาจไม่ชื่นชมมันอยู่อย่างนี้ อะไรก็น่าจะเป็นไปได้ทั้งนั้น

สำหรับ “ตามตาต้องใจ” ปลวกไม่ค้นพบสัญลักษณ์สลักเร้นเท่าเรื่องแรก และปลวกอาจเป็นเพียงไม่กี่คนก็ได้...ที่อ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้แล้วหัวเราะขบขันตั้งแต่ต้นจนจบ อารมณ์ดีเหลือเกินกับความคิดเล็กๆ แตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ ของเด็กหญิงต้องใจ ถ้าปลวกเกิดจับพลัดจับผลูมีลูกกับใครสักคนเข้าโดยไม่ได้ตั้งใจ ปลวกก็อยากให้ลูกของตนกล้าคิดแตกต่างอย่างเด็กหญิงต้องใจนี่แหละ
เริ่มแต่ต้นเด็กหญิงต้องใจไม่ได้คิดเหมือนคนอื่นว่าหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง “หนึ่งบวกหนึ่งของเด็กหญิงต้องใจมีผลลัพธ์เท่ากับหนึ่งหรือสาม” ปราบดา หยุ่นเขียนไว้อย่างนี้ “หนึ่งบวกหนึ่งจะเป็นสองไปได้อย่างไร เดี๋ยวก่อน ถ้ามีหนึ่งแล้วอีกหนึ่งมาจากไหน แล้วมาบวกกันทำไม แค่นั้นก็เป็นปัญหาใหญ่อยู่แล้ว สมมติว่าพ่อเป็นหนึ่ง บวกกับอีกหนึ่งคือแม่ ก็เป็นสามชัดๆ เพราะพอสองคนนั้นมาบวกกัน เราก็เกิดขึ้นมาเป็นสาม แถมยังสันนิษฐานไว้ว่า การรวมตัวกันของพ่อกับแม่ยังไม่จบแค่นี้ ต่อไปถ้าเรามีน้องก็กลายเป็นสี่ ต่อไปถ้าน้องของเรามีน้องก็กลายเป็นห้า สมมติว่าหนึ่งคือเสือ อีกหนึ่งคือกระต่าย เอามารวมกัน เสือก็ต้องกินกระต่าย ก็เหลือแค่หนึ่ง สมมติว่าหนึ่งคือปรอท บวกกับอีกหนึ่งคือปรอท ปรอทกับปรอทบวกกันก็เป็นปรอทก้อนใหญ่ก้อนเดียว ก็กลายเป็นหนึ่งอีก”
“ตามตาต้องใจ” ยังสะท้อนภาพสังคมไทย หรือสังคมซึ่งนักประชาธิปไตยหัวก้าวหน้าตั้งชื่อเสียใหม่เป็นเสียงเดียวกันว่า “ตอแหลแลนด์” ได้อย่างมาก พอเด็กหญิงต้องใจคิดต่างจากคนอื่นนิด “ครูมด” ในเรื่องก็เกิดอาการไม่พอใจอย่างดราม่าได้โล่ พยายามขอร้องให้ต้องใจเชื่อว่าหนึ่งบวกหนึ่งต้องเท่ากับสองให้จงได้ นั่นทำให้เด็กหญิงต้องใจต้องตอบตามครูมดคิด “ตั้งแต่วันนั้น ผู้ใหญ่คนไหนถามต้องใจว่าหนึ่งบวกหนึ่งเป็นเท่าไหร่ ต้องใจจะตอบว่าสอง แต่ถ้าคนถามเป็นเด็กหรือคนชรา ต้องใจจะตอบว่าน้อยกว่าหรือมากกว่าสอง” เรื่องดังกล่าวสะท้านภาพรวมขนาดใหญ่อย่างไร? นั่นคือกรอบซึ่งวางวิธีคิดของเด็กส่วนมากเอาไว้แล้วบังคับให้เดินตามรอย
ในประเทศที่งบกระทรวงศึกษาธิการอันได้รับมาจากภาษีประชาชนมากเป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับกระทรวงอื่น อีกทั้งงบที่ว่ายังเยอะชนิดเทียบไม่ติดเมื่อเทียบกับกระทรวงศึกษาธิการประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทว่ามาตรฐานการศึกษาและครูผู้สอนของประเทศเรากลับมีมาตรฐาน “ต่ำ” กว่าประเทศเหล่านี้ระดับทิ้งห่างอย่างเห็นได้ชัด ปลวกไม่แปลกใจเลยที่ครูบาอาจารย์หลายท่าน (รวมถึงครูคนหนึ่งซึ่งปลวกเคยรู้จักมักคุ้น) ประณามว่าเรื่องสั้นของปราบดา หยุ่นเป็นเล่มที่อ่อนที่สุดในรวมเรื่องสั้นซีไรท์ทั้งหมด เหตุผลมาจากการที่ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ทั้งหลายหวาดกลัวว่ากรอบซึ่งตนถูกปลูกฝังมาเนิ่นนานจะถูกแทนที่ด้วยความคิดใหม่อันไร้กรอบ พอเด็กกล้าแข็งข้อในความคิด ครูย่อมกลัวอำนาจความเป็นผู้สอนจะเสียไป กลัวเด็กไม่เชื่อฟัง กลัวการคิดอะไรเพี้ยนๆ ผิดหลักสูตรการศึกษาจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติในอนาคต เด็กผู้คิดเหมือนครู...ครูย่อมรัก เด็กผู้คิดต่างจากครู...ครูย่อมบอกว่ายังรักนักเรียนทุกคนเท่ากัน เพียงแต่จะให้ความสำคัญกับนักเรียนที่รักมากกว่า “ระยะทิ้งห่าง” เท่านั้น และในเมื่อครูยังตอแหลอยู่อย่างนี้ นักเรียนจำเป็นต้องตอแหลตามเพื่อความอยู่รอดหรือไม่?
เหตุการณ์อันสร้างความฉงนให้แก่จิตใจปลวกอีกเหตุการณ์หนึ่ง คือตอน “คุณครูหญิงผอม” ยึดช็อคโกแลตของเด็กหญิงต้องใจและ “เด็กหญิงปุ๋ย” ไปแล้วไม่คืนให้ตามคำสัญญา นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กเด็ดขาด มันสะท้อนภาพพวกผู้ใหญ่ประเภทไม่เคยรักษาสัญญาใดกับเด็กๆ ได้เลยสักครั้ง แล้วเชื่อว่าความคิดของตัวเองถูกต้องเสมอ ความรู้สึกของเด็กไม่ใช่เรื่องสำคัญ เชื่อเถอะ ความเห็นแก่ตัวของผู้ใหญ่จะปลูกฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเด็กหญิงต้องใจและเด็กหญิงปุ๋ยตลอดชีวิต นับแต่นั้น ปลวกเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กหญิงต้องใจจะไม่ไว้ใจผู้ใหญ่คนไหนอีกแน่ และพอโตขึ้น นางสาวต้องใจจะกลายเป็นคนแบบใด แน่นอนว่านี่ต้องเป็นปมปัญหาอันขมวดมุ่นของเธอ หากปราบดา หยุ่นเต็มใจจะเขียนภาคต่อของ “ตามตาต้องใจ” ปลวกอาจได้รู้คำตอบ
ความเป็นเด็กหญิงต้องใจสะกิดใจปลวกอยู่เรื่องหนึ่ง เราจะมองว่าโลกสวยไม่ได้เป็นอันขาด เด็กหญิงต้องใจมีข้อเสียอยู่ไม่มากก็น้อย ความอยากเป็นคนเอาชนะผู้อื่นเสียทุกเรื่องนั้นแหละข้อเสีย ในเรียงความเรื่อง “บ้านของฉัน” โดยเด็กหญิงต้องใจ พอต้องใจรู้ว่าโจรไม่สามารถขนของขนาดใหญ่ออกจากบ้านทางรูหลังคาสำเร็จ ต้องใจก็ยังเชื่ออยู่เหมือนเดิมว่าโจรอาจเข้าทางหลังคาและออกทางหน้าต่างก็ได้ นั่นสามารถแก้ตัวได้ว่าต้องใจเป็นเด็กซื่อ เช่นจากเรื่องต้องใจกลัวเข็มทิศตำมือ ถึงแม้ต้องใจจะเป็นเด็กประเภทอยากเอาชนะผู้อื่นเสียทุกเรื่องจริงตามความเข้าใจของปลวก เราก็คงมองโลกในแง่ดีต่ออีกว่า อย่างน้อยต้องใจก็มีเหตุและผลของตัวเองจนสามารถเถียงชนะความรู้สึกของผู้อ่านได้อย่างอยู่หมัดจัดว่าฮา
“ตามตาต้องใจ” ยังทิ้งท้ายอย่างน่าฉงนคูณสิบ “บ้านของฉัน ฉันเป็นว่าบ้านที่สวยดี แต่ถ้าคนอื่นมอง ก็คงเห็นเป็นบ้านธรรมดาๆ ไม่มีอะไรพิเศษ ซึ่งอาจเป็นเพราะคนอื่นยังรู้ว่าบ้านของฉันหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงไหน” นั่นสิ บางทีเราคงจำเป็นต้องมีเข็มทิศสักอันไว้ชี้นำว่าเรื่องสั้นของปราบดา หยุ่นหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงไหน ถึงแม้ปราบดา หยุ่นจะไม่บอกโต้งๆ ในเรื่องนี้ ทว่าเขาก็ไม่ได้ “เซอร์” ถึงขนาดทิ้งนักอ่านไว้ในอากาศธาตุอย่างไร้ความรับผิดชอบ เรื่องข้องใจอันเอ่อล้นถูกเฉลยทิศทางในระดับลุ่มลึก...เมื่อปลวกอ่านมาถึง “มารุตมองทะเล” อันเรื่องสั้นระดับเซียน

หากเรื่องสั้น “ความน่าจะเป็น” เป็นตัวแทนระบบสัญลักษณ์อันลุ่มลึก “ตามตาต้องใจ” เป็นการมองเห็นสิ่งเล็กสิ่งน้อย พลอยขยายสู่ปัญหาระดับชาติ “มารุตมองทะเล” ก็ต้องเป็นตะกอนความนึกคิดอันวิจิตรวิปลาส ทว่างดงามในรูปแบบของมันเป็นแน่ รูปแบบที่ว่านี้คืออะไร...ก็คือรูปแบบซึ่งละเลยกับความขบขันในระดับเส้นตื้น หากเป็นการล้อเล่นกับความโปกฮาในระดับตลกร้ายของปราบดา หยุ่นเลยก็ว่าได้
ปลวกไม่คิดหรอกว่า ทำไมมารุตถึงต้องมองทะเล ความรู้สึกแรกครั้งเห็นชื่อเรื่องนี้กลับเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกว่ามันหวือหวาอะไร หากเพียงประโยคเปิดเรื่องกลับชักจิตวิญญาณด้านสว่างของปลวกมึนงงและด้านชาราวกับถูกตบ “ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ ผมขอเรียนผู้อ่านที่เคารพว่าผมไม่ได้ชื่อมารุต” คุณอาจไม่เชื่อ ไม่คิดว่าปราบดา หยุ่นจะเอาจริง แต่ทุกอย่างถูกย้ำด้วยประโยคต่อไป “และผมก็มิได้นั่งอยู่ใกล้ทะเลแต่อย่างใด”
เรื่องสั้นเรื่องนี้ถูกจัดไว้ในลำดับสิบสองจากทั้งสิบสามเรื่อง ดังนั้นมันจึงแสดงความเป็น “กบฏ” ชัดแจ้งแห่งผู้เขียนได้ดิบดี ปราบดา หยุ่นไม่ได้เป็นกบฏต่อโลก หากเขายังเป็นกบฏในระดับกวนประสาทกับตัวเองอีกด้วย (จริงๆ อยากใช้คำว่า “กวนตีน” แต่เกรงใจ) ตัวละครชื่อมารุตเป็นใครมาจากไหน แน่นอนมันย่อมเป็นคำถามของผู้อ่าน เราจะรู้สึกว่ากำลังถูกผู้เขียนจูงจมูก แต่ก็ไม่เชิง เพราะความคิดของเขาซึ่งตรงข้ามความคิดเรากลับถูกปฏิเสธซ้ำๆ ผ่านสำเนียงการเล่าแบบเป็นกันเอง ชนิดปลวกแทบตั้งตัวไม่อยู่ เรื่องของเรื่องคือตัวละครชื่อมารุตถูกสร้างขึ้นโดยปราบดา หยุ่น และตัวละครชื่อมารุตนี่เองกำลังโลดแล่นออกมา “แฉ” เขาผ่าน “เขา” อีกที หากคุณต้องการอ่านงานแนวสัจนิยม...มันเป็นอะไรสลับซับซ้อนและไร้เหตุผล ด้วยเรื่องสั้นเรื่องนี้ได้หลุดพ้นสัจนิยมมายาเสียแล้วด้วยซ้ำ หรืออาจหลุดจากตัวตนประเภทมานุษยวิทยาไปเสียอีก ปลวกคิดว่าเราสามารถใช้คำว่า “สัจ” ได้ เพียงต้องสะกดด้วยอักษรอื่นลงท้ายถึงจะตรงต่อจุดประสงค์ของผู้เขียน
แล้วเรื่องสั้น “มารุตมองทะเล” บอกอะไรแก่ผู้อ่าน หรือนี่ก็เพียงตะกอนความคิดที่ตกผลึกแล้วไม่ได้รับการชำระล้าง เหตุและผลซึ่งเราต้องการค้นหาคือการค้นพบด้วยความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ เรียบเรียงไม่ได้ยามอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้จบ ปลวกรู้สึกตื่นเต้นตั้งแต่ตัวอักษรตัวแรกจนถึงตัวสุดท้าย กระตือรือร้นขบคิดต่อจนกระเตื้องกระโตกกระตาก “เขาอาจจะเขียนคำบางคำได้สะกิดใจคุณนัก เขาอาจจะมีมุมมองแปลกๆ ที่มีเสน่ห์ เขาอาจจะทำให้คุณเชื่อเขาว่ามีอะไรสำคัญจะบอก แต่เชื่อผมเถอะ ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณคิดว่าคุณเรียนรู้มาจากเขา ความจริงแล้วมันออกมาจากตัวคุณเอง” อ่านซ้ำแล้วย้ำอีกหน ราวกับว่าปราบดา หยุ่นสร้าง “มารุต” ขึ้นมาเพื่อประณามตัวเองโจ่งๆ แจ้งๆ เขากล้าถึงเพียงนั้น ทว่าในทางกลับกัน คุณแน่ใจหรือว่าเขาหมายถึงเพียงตัวเขาเอง แม้เรื่องสั้นส่วนใหญ่จะแสดงความเป็นปัจเจกชนสุดขั้ว หากแนวคิดดังกล่าวดันมีผล “สะท้อนกลับ” สู่นักเขียนผู้ถือตัวทุกคนอย่างไม่อาจเลี่ยงหลบ เอาไหมล่ะ จะมีสักคนไหมที่กล้าออกมาประณามตัวเองเช่นเขา อีกทั้งสิ่งที่ปราบดา หยุ่นเขียนยังไปสะกิด “ตัวจริง” ของนักเขียนหลายคนเข้าอีกด้วย บางที “นายหยุ่น” ในเรื่องอาจจะเป็นคุณอยู่ก็ได้...นักเขียนผู้ยโสโอหัง!
เขาบังอาจสร้างตัวละครขึ้นให้คิดเหมือนหรือตรงข้ามกับตัวเอง...ปลวกไม่อาจทราบแน่ เพียงแต่ความคิดซึ่งนักเขียนยัดใส่ไว้ในตัวละครแต่ละตัวย่อมมีอิทธิพลกับความคิดของผู้อ่านแตกต่างกัน “มารุตมองทะเล” เป็นเรื่องสั้นบรรลุแล้ว ปราบดา หยุ่นได้ก้าวพ้นและมองข้ามแนวความคิดประเภทยกย่อง “ความคิดของตัวเอง” ให้กลายเป็นความคิดของผู้อ่านโดยไม่จำเป็นต้อง “ยัดเยียด” อะไรมาก เมื่ออ่านจนจบ ปลวกพบข้อคิดทรงพลังอันปราบดา หยุ่นต้องการสื่อ (ไม่รู้ว่าเขาตั้งใจหรือเปล่าอีกเช่นเคย) หลังจากเขาได้ชักจูงผู้อ่านให้มีส่วนร่วมในการคิดเหมือน “มารุต” ผู้เป็นตัวละคร ซึ่งเขาบอกเช่นนั้นว่ามารุตไม่ใช่เขา เราปฏิเสธไหมว่าไม่ได้คิดตามมารุตจนจบเรื่อง จนสามารถสร้างจินตนาการภาพเหล่านี้ตามด้วย “เอ้า มาแล้วสินะ กรอบสี่เหลี่ยม กล่องสีขาว อย่าบอกนะว่าเป็นห้อง โอ๊ะ! ถ้าซื้อหวยกูถูกรางวัลที่หนึ่งไปแล้ว เป็นห้องจริงๆ ด้วย ห้องอะไรล่ะที่ มีม่านสีม่วงด้วย เชยสิ้นดี นั่นหน้าต่างโผล่ขึ้นมาแล้ว โต๊ะ เก้าอี้ เตียง หมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม โคมไฟ ประตู โทรศัพท์ กระจก ทีวี โอ้! ทำไมทีวีรุ่นเก่าจังล่ะท่าน ตู้เสื้อผ้า ต้เย็น แน่ะ มีรูปแขวนผนังเสียด้วย”
ในขณะเรื่องสั้นใกล้ถึงจุดไคลแม็กซ์ ปลวกปฏิเสธหลายต่อหลายครั้ง หากกลับปฏิเสธไม่ได้สักทีว่าตนเองกำลังคิดตามตัวละครเหมือน “เป็น” ตัวละครเสียเอง ปลวกลองเอาใจเขามาใส่ใจเราดูอย่างมีจิตอารีอารอบ สำหรับผู้ไม่เห็นด้วยกับเรื่องสั้นสิบเอ็ดเรื่องของปราบดา หยุ่น ก่อนถึง “มารุตมองทะเล” เป็นไปได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าคุณต้องมาสะดุดกึกกับเรื่องสั้นเรื่องนี้แน่นอน สำหรับเรื่องสั้นเรื่องอื่น...คุณอาจอึดอัดไม่พอใจคราวละเลียดอ่าน คุณอาจสบถหลายพยางค์ด้วยเพราะความคิดไม่ตรงกับปราบดา หยุ่นแม้แต่แนวเฉียง เป็นไปไม่ได้หรอกที่คุณจะถอดความรู้สึกออกจากตัวเองแล้วเชื่อว่าสิ่งซึ่งตัวละครคิดอาจไม่ใช่สิ่งที่นักเขียนคิดก็ได้...เป็นไปไม่ได้เกือบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์สำหรับปลวก และแล้ว “มารุต” กลับตอกหน้าคุณเสียหงายหลัง ในที่สุดนักอ่านก็มีส่วนสร้างตัวละครสดใหม่ขึ้นพร้อมกัน “ผมชื่อมารุต สิ่งที่ผมเห็นเบื้องหน้าคือท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล” ประโยคจบบอกเป็นนัยๆ ได้ว่า แท้จริงแล้ว ผู้มีส่วนร่วมสร้างตัวละครชื่อ “มารุต” ขึ้นมา...ไม่ใช่คนอื่นคนไกลเลย “น้ำสีครามจ้องหน้าผมตาไม่กระพริบ”
อ้าว แล้วมารุตเป็นใครล่ะ มารุตเป็นเพียงตัวละครหนึ่งของปราบดา หยุ่นไม่ใช่หรือ แล้ว “น้ำสีคราม” ล่ะคืออะไรกันแน่ ปลวกคิดว่าน้ำสีครามอาจหมายถึงตัวแทนของผู้อ่านทุกคน แล้วในที่สุดน้ำสีครามก็พลันกลืนกลายเป็นตัวละครตัวหนึ่งของปราบดา หยุ่นไปโดยไม่รู้ตัว ปลวกขอย้อนกลับถึงข้อความที่หยิบยกอ้างก่อนหน้านี้ไปแล้วอีกครั้ง ดังนี้ “ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณคิดว่าคุณเรียนรู้มาจากเขา ความจริงแล้วมันออกมาจากตัวคุณเอง” มารุต (ซึ่งปราบดา หยุ่นและผู้อ่านร่วมกันสร้าง) ยังอธิบายต่ออีกว่า “อัฐยายซื้อขนมยายนั่นแหละครับ บุคคลเช่นเขาจึงเป็นคนอันตรายอันดับหนึ่งของสังคม เขายื่นความเป็นคนของคุณให้คุณซื้อ ยิ่งคุณซื้อมาก เขาก็จะมีอิทธิพลกับเซลล์ในสมองของคุณมาก แล้วสักวันประโยคที่คุณคิดก็จะถูกเขาบงการอยู่เบื้องหลังโดยไม่รู้ตัว” กับบทสรุปชัดเจน เชื่อว่าปลวกคงไม่จำเป็นต้องอธิบายต่อให้เสียเวลา
แต่ก็นั่นแหละ อย่างที่บอกไปแต่ต้นและพยายามย้ำหนักย้ำหนา ไม่ว่าปราบดา หยุ่นจะตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ในที่สุดผลสมฤทธิ์ ปรากฏว่าปลวกและผู้อ่านบางกลุ่มมีพลังมากพอที่จะคิดวิเคราะห์ได้ลึกสุดลึกถึงไส้ติ่ง แต่ก็คงมีนักอ่านบางกลุ่มคิดตื้นหรือลึกกว่าปลวกก็เป็นได้ และผลอื่นๆ ที่ตามมาก็สอดพร้องกันเป็นอย่างดี ปราบดา หยุ่นอาจไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่า “ความน่าจะเป็น” มันจะเป็นเรื่องลึกสำหรับผู้อ่าน อย่างที่เขาอาจไม่ได้คิดว่า “ความน่าจะเป็น” จะได้รับรางวัลซีไรท์ประจำปี พ.ศ.2545 เช่นเดียวกับที่เขาอาจไม่ได้คิดอีกว่า ตั้งแต่รวมเล่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2543 จนเวลาผ่านล่วงมา 12 ปี ถึง พ.ศ. 2555 หนังสือเล่มนี้จะประสบความสำเร็จตีพิมพ์ซ้ำครั้งที่ 38 แล้ว
หลายสิ่งหลายอย่างที่นักเขียนอาจไม่ได้คิดเอาไว้ มัน “น่าจะเป็น” ไปแล้วสำหรับผู้อ่าน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น