ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ปลวกมีความชื่นมื่นที่จะนำเสนอหนังสือรางวัลซีไรท์อีกสักเรื่อง
ซึ่งถ้านับรวมเรื่องนี้ด้วยก็ถือว่าเป็นสามเรื่องติด โดยในสามเล่มนี้ผ่านการคัดสรรอย่างละเอียดถ้วนถี่กระปรี้กระเปร่า
และต้องอยู่กับอารมณ์ของปลวกเองด้วยว่าจะเขียนบทวิจารณ์เมื่อใด จากบทวิจารณ์แรก เขียนถึงนวนิยาย
“ความสุขของกะทิ” ของ งามพรรณ เวชชาชีวะ
บทวิจารณ์ที่สอง เขียนถึงรวมเรื่องสั้น “ความน่าจะเป็น”
ของปราบดา หยุ่น หลังจากทิ้งช่วงห่างหายกันไปนานหลายเดือน ปลวกต้องการที่จะลิ้มรสวรรณกรรมให้ลุ่มลึกสมกับผู้รังสรรค์สิ่งล้ำค่าปรารถนาลึกล้ำที่จะนำพาห้วงอักษรกรประพันธ์สู่บรรณพิภพ
ปลวกจึงอยากเขียนถึงบทกวีบ้าง ทว่าปลวกก็ไม่สามารถอาจเอื้อมแตะ “เพียงความเคลื่อนไหว” ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หรือ
“ปณิธานกวี” ของ อังคาร กัลยาณพงศ์อย่างแน่นอน
เหตุผลประการหนึ่ง เพราะรวมบทกวีเหล่านั้นไม่ได้มีอิทธิพลใหญ่หลวงในวัยของปลวก เหตุผลประการสอง
เพราะปลวกไม่ได้ติดตามความสำเร็จของรวมบทกวี “เพียงความเคลื่อนไหว”
และ “ปณิธานกวี” ตั้งแต่ต้น
เช่นบทกวีรางวัลซีไรท์เล่มหลังๆ และบทกวีทั้งสองเล่มซึ่งปลวกยกขึ้นมาเอ่ยอ้างก็เรียกได้ว่าเป็นงานชั้นครู
อันได้รับการยอมรับจากผู้เสพในระดับสูง ถึงขั้นบรรลุและสมควรยกขึ้นหิ้งเกินกว่าจะวิจารณ์
แต่ปลวกก็มีโอกาสเช่นที่โอกาสควรจะมีให้ปลวก—ได้ลิ้มรสบทกวีไร้ฉันทลักษณ์
อันมีชื่อรวมเล่มอันสุดแสนไพเราะและเก๋ไก๋ว่า “ไม่มีหญิงสาวในบทกวี”
ของซะการีย์ยา อมตยา ในวัยและประสบการณ์อันพอเหมาะพอเจาะของปลวกเอง
ปลวกมีโอกาสได้ชิมรวมบทกวีเล่มนี้ตั้งแต่ฉบับพิมพ์ครั้งแรกแล้ว
ตั้งแต่ผู้เขียนยังไม่เป็นที่รู้จักนัก และเมื่อรวมบทกวีเล่มนี้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรท์
ปลวกก็ได้สวมวิญญาณการแทะอย่างซ้ำๆ ถึงสาม-สี่รอบเป็นอย่างต่ำ รวมถึงสวมวิญญาณผีเจ้าที่
เข้าไปกัดขบผู้ไม่เห็นด้วยที่รวมบทกวีเล่มนี้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลอันทรงเกียรติอย่างแสบๆ
คันๆ ตามหน้าเว็บบอร์ดและเว็บไซต์เฟซบุค และโดยส่วนตัวยังมั่นใจว่าการที่รวมบทกวีเล่มนี้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลใหญ่ไม่ใช่เรื่องแปลก—เป็นเรื่องเกินคาดมากกว่า จากประสบการณ์การติดตามผลรอบสุดท้ายรางวัลอันกระฉ่อนมานานหลายปีดีดัก
ตั้งแต่เริ่มเป็นหนอนหนังสือเมื่อกาลกระโน้น จนมีวิวัฒนาการมาเป็นปลวก วรรณกรรมในที่สุด
ปลวกเห็นว่าในปี พ.ศ. 2550 การที่บทกวีถึงสองเล่มของศิริวร
แก้วกาญจน์ เข้ารอบสุดท้ายยังถือว่าเป็นประเด็นน่าโจมตีมากกว่า
ปลวกมีประสบการณ์ทางตรงเกี่ยวกับ “ไม่มีหญิงสาวในบทกวี”
อยู่ไม่มากก็น้อย—ค่อนข้างจะเลยเส้นไปในส่วนหลังด้วยซ้ำ
ครั้งแรกที่ปลวกได้หนังสือเล่มนี้มาครอง เป็นช่วงขณะชีวิตปลวกวนเวียนอยู่ในมหานครแห่งแสงสีเนิ่นนานกว่าปกติ
ปลวกใช้เวลากว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตอยู่กับการเดินทาง ทั้งทางแท็กซี่ รถเมล์ รถไฟฟ้าใต้ดิน
และในขณะที่นั่งอยู่ในรถไฟฟ้าบีทีเอส บทกวี “บทเพลงแห่งการไม่มาและไม่ไป”
ก็ได้พลิ้วไหวขับกล่อมจิตวิญญาณของปลวกอย่างนุ่มนวล และรุนแรงสลับสับเปลี่ยนกันไป
ตั้งแต่บทแรกที่ว่า
“รถไฟเลื่อนไหลไปบนราง
ทอดยาวเหนือทัศนียภาพ
มหาโคตรนครแห่งทวยเทพ
โสเภณี สาววัยกำดัด และกรรรมกรในชุดสูท
กวี นักเขียน และเลขาสาวกระโปรงสั้น
ยาม ผู้จัดการฝ่าย และคุณครูซีต่ำ
เกย์ ทอม ดี้ และกะเทยเพศที่สาม”
เท่านี้ก็บรรยายสายตาของกวีซึ่งมองโลกอันเลื่อนไหลในรถไฟฟ้าอย่างละเอียดอ่อน
แม้ว่าบทกวีของซะการีย์ยา อมตยาจะคงความเป็นปัจเจกชนเสียส่วนใหญ่ โดยละทิ้งการดำเนินสำนวน-คำ-ความตามแบบฉบับของสังคมกำหนด ซึ่งเห็นได้ชัดในบทกลอนของกวีรุ่นเก่า
ที่แม้จะดิ่งลึกลงสู่อารมณ์ส่วนตัว ก็ไม่พ้นเอ่ยอ้างความหมายและมวลอภิปรัชญาไว้ในกรอบความคิดชนส่วนใหญ่
บทกวีเหล่านั้นต้องตกผลึกออกมาในรูปแบบของการสั่งสอน โดยสั่นคลอนจิตสำนึกในทางที่ดีที่ควรตามแบบศีลธรรม
จึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นบทกวีที่ดี หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นบทกวีเชิดชูความงดงาม ประณามความทรามต่ำ
ขย้ำขยี้ทุนนิยม และเพาะบ่มแนวทางอนุรักษ์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บทกลอนของกวีรุ่นเก่าซึ่งได้รับการยอมรับจะถ่ายทอดออกมาตามขนบแห่งวรรณศิลป์
แต่บทกวีของซะการีย์ยา อมตยาไม่ดำเนินไปในแนวทางนั้น งานของซะการีย์ยามีความเป็นอัตถิภาวนิยมอย่างลึกซึ้ง
ไม่มีกวีบทใดดำเนินตามแบบแผนแนวทางแห่งการตัดสิน โดยเฉพาะบทที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น—เป็นเพียงสายตาบทกวีผู้มองโลกในรถไฟฟ้าอย่างเนิบช้า กวีไม่ได้ตัดสิน “โสเภณี สาววัยกำดัด และกรรรมกรในชุดสูท” ไม่ได้มองแทนสายตาของ
“กวี นักเขียน และเลขาสาวกระโปรงสั้น” ไม่ได้บรรยายความหมายอื่นใดของอาชีพ
“ยาม ผู้จัดการฝ่าย และคุณครูซีต่ำ” และไม่ได้เผยแผ่จิตใต้สำนึกอันกดดันของ
“เกย์ ทอม ดี้ และกะเทยเพศที่สาม” แล้วเราเห็นอะไรในสิ่งที่กวีประพันธ์ไว้ ใจความซ้อนทับอยู่ในความคิดของกวี
ณ ขณะจิตนั้นเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้ครุ่นคำนึงในดินแดนจินตนาการอันกว้างขวาง ถ้อยคำในบทกวีไม่ได้เรียงลำดับกันโดยไร้ซึ่งความหมายอะไรเลย
เพียงแต่กวีไม่ต้องการเปิดใจความของความหมายนั้นอย่างโจ่งแจ้งให้สูญเสียอรรถรสในการอ่าน
กวีจึงปล่อยให้อารมณ์ร่วมของผู้อ่านไหลลื่นราวกับ “รถไฟฟ้าเลื่อนไหลไปบนราง”
อีกบทหนึ่งซึ่งปลวกชอบที่สุดในรวมบทกวีเล่มนี้เลยก็ว่าได้ แม้ความชอบของปลวกอาจไม่ตรงกับจริตผู้อ่านท่านๆ
อื่น บอกตามตรงว่าปลวกก็หาได้แคร์สื่อไม่ บทนั้นมีชื่อว่า “จนกว่าพลทหารคนสุดท้ายจากแนวรบจะกลับมา”
โดยในที่นี้ ปลวกของยกวรรคสุดท้ายของบทกวีมาวิพากษ์อย่างเบาๆ ก็แล้วกัน
“วันแล้ววันเล่า
หญิงชรานางหนึ่ง
นั่งริมทางรถไฟ
บนม้านั่งตัวเดิมตัวนั้น
ตัวที่เธอกับเขาเคยนั่ง”
สาเหตุที่บทกวีของซะการีย์ยา อมตยา มีความหมายซ้อนทับและลุ่มลึกอย่างที่งานของกวีท่านใดไม่มี
โดยเฉพาะไม่เคยมีในเวทีใหญ่อย่างรางวัลซีไรท์มาก่อน ปลวกบอกได้คำปากเต็มคำเลยว่า “เพราะบทกวีของซะการีย์ยา
อมตยาไม่มีฉันทลักษณ์” ความไม่มีฉันทลักษณ์ส่งผลให้นัยลึกซึ้งของความหมายที่กวีต้องการจะสื่อตกผลึกออกมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
โดยที่บทกวีฉันทลักษณ์จำเป็นต้องละทิ้งใจความสำคัญนั้นไปด้วยปัจจัยด้านคำ-ความ-คล้อง บทกวีฉันทลักณ์จึงรุ่มรวยไปด้วยคุณค่าทางวรรณศิลป์
ขณะที่บทกวีไร้ฉันทลักษณ์รุ่มรวยไปด้วยคุณค่าทางความหมายมากกว่า ในบทที่มีชื่อว่า “จนกว่าพลทหารคนสุดท้ายจากแนวรบจะกลับมา” กวีไม่ได้แหกเพียงกฎฉันทลักษณ์เพียงข้อเดียว
หากยังแหกกฎในเรื่องของความเรียบง่ายตามแบบฉบับกวีนิพนธ์ทั่วไปอีกด้วย โดยในบทกวีดังกล่าวเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ซึ่งไม่ได้จำกัดความอยู่แค่เรื่องของภาษาศาสตร์
โดยใช้ตัวอีโมชั่นใส่ลงไปในบทกวีตั้งแต่วรรคแรก อันถือว่าเป็นความวิบัติทางภาษาสำหรับนักวิชาการผู้คร่ำครึ
และการใช้แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์อันเป็นเครื่องมือซึ่งกวีผู้นิยมปากกาและดินสอไม่เคยใช้
จัดแต่งตัวอักษรตามอารมณ์ของกวีรุ่นอิเล็กทรอนิกส์ เช่น
“................
ค่อยค่อยเล็กลง เล็กลง
เล็กลง เล็กลง เล็กลง เล็กลง
เล็กลง
เล็กลง
เล็กลง
จ น ห า ย ลั บ ส า ย ต า *”
ในความหมายของบทกวีเอง กล่าวถึง “เธอ” ซึ่งมานั่ง “ริมทางริมไฟ -- บนม้านั่งตัวเดิม
ที่เธอกับเขาเคยนั่ง” และในบริบทความหมายของความ “เล็กลง” ในที่นี้ หมายถึงสายตาของ “เธอ” ที่มองดูขบวนรถไฟตั้งแต่หัวเคลื่อนลับไปถึงหาง จน
“เล็กลง เล็กลง” และแล่นหายไป ซึ่งในชื่อบทกวีก็ได้บอกความรู้สึกของหญิงสาวผู้รอคอยชายผู้ต้องไปทำหน้าที่ในสงคราม
“วันแล้ววันเล่า” จนผู้อ่านอย่างปลวกรู้สึกได้ถึงความเศร้าลึกในจิตใจของหล่อน
หญิงสาวรอคอยจนล่วงสู่วัยชรา—ถือว่าเป็นไคล์แม็กซ์ของบทกวีบทนี้
ซึ่งถ้าเป็นนวนิยายสักเรื่องอันมีความยาวร้อยหน้าขึ้นไป อาจเจาะลึกลงไปในจิตใจตัวละครได้ละเอียดละออกว่า
ทั้งฝ่ายผู้รอคอยและฝ่ายผู้อยากกลับจากพิษสงครามอันรุนแรง เช่นที่หนังสือ “เดียร์ จอห์น”
ของนิโคลัส สปาร์กส์ ได้ทำเอาไว้อย่างตราตรึงใจผู้อ่านอย่างปลวกและหลายๆ ท่าน ทั้งนั้นทั้งนี้
ไม่ว่าซะการีย์ยาจะได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนบทกวีบทนี้มาจากอะไรก็ตาม เขาได้ย่อส่วนของความเศร้าแห่งการเสียสละ
ซึ่งผู้อ่านต้องอาศัยจินตนาการและการตีความเป็นตัวจุดชนวนเอาเอง ได้อย่างมีชั้นเชิง
นี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่ปลวกไม่แปลกใจเมื่อรวมบทกวีเล่มนี้จะได้รับรางวัลระดับชาติ
กล่าวถึงบทกวีที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของปลวกช่วงหนึ่งไปหนึ่งบทแล้ว และกล่าวถึงบทกวีที่ชอบมากที่สุดในเล่มไปอีกหนึ่งบทแล้ว
ท่ามกลางมวลสารแห่งความเป็นปัจเจกซึ่งปลวกได้รับอิทธิพลมาจากการอ่านอย่างโดดเดี่ยวนั้น
ปลวกอยากจะกล่าวถึงบทกวีที่ผู้อ่านรอบตัวปลวกชื่นชอบบ้าง แน่นอนว่างานเขียนที่ดี—โดยเฉพาะหนังสือที่เราชื่นชอบ เราก็ไม่พ้นแนะนำให้คนอื่นๆ ได้อ่านกัน ใจจริงอยากบังคับให้ผู้อ่านชื่นชมมันเช่นเดียวกันกับเรา
แม้ผลที่ออกมาจะประปรายว่ามีคนชอบบ้างไม่ชอบบ้าง หรือแม้จะไม่ชอบมากกว่าชอบ ปลวกก็ยังมั่นใจอยู่ลึกๆ
ว่า สักวันหนึ่งหนังสือที่ปลวกชอบทุกเล่ม—เนื่องด้วยมองเห็นคุณค่าอันซ่อนอยู่ลึกๆ
ของมัน จะกลายเป็นงานคลาสสิกอันทรงคุณค่า ปลวกคิดว่าหลายบทในรวมบทกวีของซะการีย์ยา
มีความเป็นสากลอยู่มาก เช่นบทที่มีชื่อว่า “ด้วยบทกวีนี้ ฉันจารึกนามให้ท่านซีดีย์”
โดยเฉพาะบทที่มีชื่อว่า “ที่รัก” ซึ่งไม่ได้ยึดโยงอยู่กับเรื่องของกาลเวลาและสถานที่เช่นบท
“บทเพลงแห่งการไม่มาและไม่ไป” แต่อย่างใด
“ฉันไปตลาดมืดค้าอาวุธ
เพื่อซื้อนิวเคลียร์
มาฝากเธอ
ที่รัก
~”
เบื้องต้นคือบทแรก
ซึ่งบทสุดท้ายมีดังนี้
“ฉันไปตลาดค้าอิสรภาพ
เพื่อซื้อสันติภาพ
มาฝากเธอ
ที่รัก
~
แต่มันไม่เคยมีขาย!”
เช่นเดียวกันกับหลายๆ
บท กวีไม่เคยยกความดีความชอบอันมีผลมาจากแรงบันดาลใจจากผู้อื่นให้กับตัวเองทั้งหมด
ซะการีย์ยายังมีเชิงอรรถไว้ว่า “*แรงบันดาลใจจากบทกวีฌาคส์ เพรแวรต์”
เช่นเดียวกับบทต่อจากนั้น “คีตกาล บรรณาการแด่เจ้าชาย” ซึ่งเขาทิ้งเชิงอรรถไว้ว่า ในวรรคแรก
“โอ เจ้าชายลี้ภัย ผู้กล้ำกลืนความเลวร้าย” เป็น “*บทกวีของ ซาร์ลส์ โบคแลร์”
ซึ่งไม่ใช่นิสัยของคนไทยผู้ไม่นิยมให้เครดิตชาวต่างชาติ แต่ถ้าย้อนประวัติของซะการีย์ยา
อมตยาดูสักนิด เราจะทราบได้ว่าเขาเติบโตมาริมเทือกเขาบูโด มีโอกาสได้ไปศึกษาเล่าเรียนที่มหาวิทยาลัยดารุล
อูลูม นัดวะตุล อุลามาอ์ สาขาอิสลามศาสตร์ ภาษาและวรรณคดีอาหรับ
ในประเทศอินเดียเป็นเวลาห้าปีเต็ม พอกลับมาประเทศไทย จึงเลือกเรียนต่อสาขาศาสนาเปรียบเทียบ
ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยประสบการณ์ดังนี้ เขาจึงมีวิถีสั่งสมการเรียนและการอ่านมาอย่างเยี่ยมยอด
และแปลกแยกไม่ซ้ำกับกวีใหญ่ซีไรท์ผู้ใด เขาเคยทำทั้งงานแปลและงานเขียน โดยกระจายในวงแคบๆ
และเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์
www.thaipoetsociety.com “เพื่อเป็นสาธารณรัฐกวีนิพนธ์หรือชุมชนทางเลือกแก่ผู้ชมชอบบทกวี”
เขาได้ให้คำจำกัดความกับเว็บไซต์ดังกล่าวเอาไว้ดังนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บทกวีของกวีหนุ่มจะมีความเป็นตะวันออกกลางอยู่ในแก่นเนื้อหามากกว่าความเป็นไทย
ทว่าความพิเศษที่บทกวีของซะการีย์ยาได้มอบให้แก่ผู้อ่าน คือภาพความเจ็บปวดเศร้าลึกผ่านวิธีประชดประชันเสียดสีอย่างเรียบง่ายในบทกวี
“ความรู้” ซึ่งสามารถยึดโยงสะท้อนปัญหาเหตุการณ์ไม่สงบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในบ้านเกิดของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แท้จริงแล้ว
สำหรับปลวก บทกวีของซะการีย์ยาสะท้อนปัญหาภายในของคนในชาติอยู่มาก
และไม่ว่าจะเป็นเจตนาของผู้ประพันธ์หรือไม่ บทกวี “สระใอใม้มลายเสีย” ก็โดดเด่นไม่แพ้บทอื่นในเล่ม
โดยบทนี้ กวีได้เล่นกับภาษา ที่ทุกคำสะกดซึ่งใช้สระ “ไ” เขาจะเปลี่ยนมันเป็นสระ “ใ”
ทั้งหมด ปฏิเสธไม่ได้ว่าในบทนี้ยิ่งสะท้อนนิสัยแหวกขนบของกวีได้เป็นอย่างดี
ซะการีย์ยาไม่ใช่กวีอนุรักษ์นิยมผู้ยึดติดกับรากเหง้าของภาษาชนิดถอดรากไม่ขึ้น
ในอนาคตปลวกไม่แน่ใจ—เขาอาจเป็นนักปฏิวัติทางภาษาเสียด้วยซ้ำ
เราปฏิเสธได้หรือไม่ว่าภาษาไทยมีปัญหาเรื่อง “ความไม่จำเป็น” หลายๆ อย่างในอักษรพยัญชนะ
สระ และวรรณยุกต์ เมื่อเทียบกับภาษาที่ใกล้เคียงเราที่สุด คือภาษาลาวแล้ว
ภาษาเพื่อนบ้านสะกดอ่าน-เขียนง่ายกว่ามาก ซะการีย์ยาได้ตั้งคำถามแสบๆ คันๆ
ในใจความสุดท้ายของบทกวีว่า
“แต่..แต่ก็คงไม่เป็นไรหรอก
ในเมื่อหัวใจของฉัน
ก็จะยังคงเป็นหัวใจ
หรือว่าไม่ใช่”
แน่นอนว่า
“หัวใจ” ในที่นี้ สะกดด้วยสระ “ใ” ดังนั้นเมื่อสระ “ไ” เสีย
มันจึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เรื่องนี้สะท้อนปัญหาของคนในชาติอย่างไร?
เรารู้อยู่แล้วใช่ไหมว่าเรื่องใดเป็นปัญหา แม้จะปัญหาระดับเล็กอย่างเช่นไม่จำเป็นต้องใช้
“ไ” ก็สามารถอ่านออกเสียงเหมือนกันโดยที่ความหมายไม่เปลี่ยน
แต่เมื่อรื้อค้นต้นตอของปัญหาออกมาแผ่หลาและเพ่งมองด้วยสายตาละเอียดอ่อน
ยังมีอักษรพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ใดในภาษาไทยอีกที่ไม่จำเป็นต้องใช้ แนวคิดนี้อาจได้รับการปฏิวัติในอนาคตอันใกล้หรือไกล—ไม่อาจทราบได้แน่ชัด
แต่ที่แน่ๆ ซะการีย์ยาไม่ได้หมายถึงเพียงแต่เรื่อง “สระ” อย่างเดียวแน่
ยังมีเรื่องอื่นอีกมากที่คนในชาตินิ่งเฉยทั้งๆ ที่รู้ว่ามัน “ไม่จำเป็น” ต้องใช้
รวมบทกวีเล่มนี้เรียกได้ว่าเกือบสมบูรณ์
ทว่างานศิลปะทุกชิ้นย่อมมีรอยวิ่นปรากฏให้เห็น และนั่นอาจเป็นเสน่ห์หรือเป็นรอยตำหนิให้ติฉินก็ได้ทั้งนั้น
ด้วยเหตุฉะนี้ บทกวีจึงไม่จำเป็นต้องมีคำจำกัดความ ไม่จำเป็นต้องขยายความหรือตีความ
เพราะมันสามารถแปรสภาพรูปความได้ทุกที่-ทุกเวลา-ทุกยุคสมัย บทกวีที่ดีเป็นเช่นนั้น
และนักวิจารณ์ที่ดีก็ไม่ควร “ฆ่า” คุณค่าของบทกวีลงด้วยการสาดเสียเทเสีย
ทว่าปลวกก็ไม่ได้เกิดมาเพื่อจะเป็นนักวิจารณ์ที่ดี ปลวกจึงเชื่อว่าตนเองมีสิทธิ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลสองประการ
คือชื่นชอบชื่นชม หรือน่าถ่มน้ำลายรด ทว่าบทกวีของซะการีย์ยาก็ไม่ควรถูกลดถอนคุณค่าด้วยการกระทำอย่างหลัง
แม้ว่าเราจะเห็นข่าววงในว่ามีการเผาหนังสือของเขา—เนื่องด้วยมีผู้เกลียดชังชุดอุดมการณ์ความคิดของกวีผู้นี้—หลังจากได้รับรางวัลอันทรงเกียรติมาแล้วก็ตาม
ปลวกคิดว่าการกระทำดังกล่าวไม่สมควรที่จะเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ สัตว์ หรือแม้กระทั่งแมลงเช่นปลวก
และมั่นใจว่าการวิจารณ์อย่างหลากหลายย่อมมีพิษภัยน้อยกว่าการกำจัดคุณค่าทางปัญหาทิ้งด้วยการทำลายอย่างโง่เขลา
บทกวีหลายบทในเล่มเปรียบเสมือนการทดลองเขียนมากกว่าการเขียนอย่างช่ำชอง
และมีความคิดอันแตกต่างกันอย่างโพสท์-โมเดิร์น บทเด่นๆ
มักเน้นย้ำและละทิ้งความเป็นอนุรักษ์นิยม แต่ก็ใช่ว่าเมื่อนักอนุรักษ์นิยมมาอ่านจะไม่ชอบ
บทกวี “เก้าอี้ห้าขา” แฝงไปด้วยการเสียดเย้ยขนบธรรมเนียมทางศีลธรรมของปุถุชน
“ผมจำได้แล้ว
ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน
ผมนั่งบนเก้าอี้ห้าขาในเขตหวงห้าม
ผมถูกประณามถึงความไม่เหมาะอิริยาบถ
โทษของผมอาจถึงขั้นได้นั่งบนเก้าอี้ไฟฟ้า
หรือจำคุกตลอดชีวิตติดต่อกันเจ็ดครั้ง”
“เก้าอี้ห้าขา”
คืออะไร?
นั่นคือคำถามแรกขณะอ่านมาถึงตรงนี้ ขณะที่ปลวกและคุณครุ่นคิดไปพร้อมกัน
เรามาอ่านบทกวีต่อจากวรรคที่หยิบยกขึ้นมาเบื้องต้นกันดีกว่า
“จริตเมืองแห่งนี้ไม่น่าอยู่สำหรับผม
หรือจริตของผมไม่น่าอยู่สำหรับเมืองแห่งนี้
ผมมีสิทธิ์ที่จะนั่งและมีสิทธิ์ที่จะยืน
หรือผมไม่มีสิทธิ์ที่จะนั่งและไม่มีสิทธิ์ที่จะยืน”
ดังนั้นปลวกจึงแน่ใจว่า
“เก้าอี้ห้าขา” คือสัญลักษณ์ของสิทธิเสรีภาพอันถูกริดรอนในประเทศของเรา—ทำไมถึงเป็นประเทศของเรา? นั่นน่ะซี
ก็ซะการีย์ยาบอกชัดเจนแล้วยังไงเล่าว่า “จริตเมืองแห่งนี้”
และปลวกจะไม่สรุปรวบยอดเลยว่ากวีกล่าวถึงเรื่องสิทธิผ่านสัญลักษณ์อันกำกวม
ถ้าหากไม่อ่านซ้ำบทกวี “ผู้ถูกหลงลืม” หลายๆ รอบ บทกวีนี้เน้นย้ำชัดเจนว่า กวีต้องการที่จะแตกต่างด้วยการเป็นขบถ
โดยใช้ภาษาตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม
“ท่ามกลางพฤกษชาติ
ฉันคือวัชพืช
ท่ามกลางบุปผชาติ
ฉันคือดอกหญ้า
ท่ามกลางดวงดาว
ฉันคือดาวตก
ท่ามกลางทรราช
ฉันคือขบถ”
การเป็น
“วัชพืช” หรือ “ดอกหญ้า” นั้น บ่งบอกว่าซะการีย์ยาปรารถนาที่เป็นกวีของประชาชนคนรากหญ้า—ซึ่งเห็นชัดว่าอุดมการณ์ของเขาเอนเอียงไปทางซ้ายมากกว่าขวา
กวีหนุ่มยังเน้นย้ำอีกด้วยว่าอัตตาแห่งปัจเจกของเขาไม่หวาดกลัวการต่อต้าน—จากชื่อเสียงและเงินทองซึ่งโถมกระหน่ำมาจากรางวัลซีไรท์ที่ตนได้รับ
เขากลับกล้าแปลกแยกแตกพ้องจากแวดวงวรรณกรรมร่วมสมัยอันปลุกปั้นเขาขึ้นมาชนิดไม่หวาดหวั่น
บทกวี “หากฉันตาย” สะท้อนอุดมการณ์ที่ว่าเป็นนัยๆ เสมือนสุ่มเสียงกระซิบต่อผู้อ่านว่า
เขาไม่กลัวที่จะโดดเดี่ยวเดียวดายในโลกหลังความตาย—ซึ่งตายในที่นี้อาจไม่ได้หมายถึงความตายจริงๆ—อาจเป็นความตายของค่านิยม
แบบแผน หรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น ครั้นครุ่นคิดอย่างเงียบงัน ปลวกก็ไม่มีสิทธิ์ตัดสินซะการีย์ยาในทันทีได้เลย
เพราะเขาเป็นเพียงกวีที่มองทุกอย่างผ่านความรู้สึกและตัวอักษรเท่านั้น
เขาอาจไม่มีอคติกับความเก่าและเชิดชูความใหม่เลยก็ได้—แม้ว่าบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ของเขาจะยืนยันเช่นนั้น
แต่เมื่อนำบทกวี “ทำไมคุณถึงไม่ขึ้นรถไฟ” กับ “บทเพลงแห่งการไม่มาและไม่ไป” มาเทียบกันในแง่ของสัญลักษณ์
“รถไฟ” กับ “รถไฟฟ้า” ก็คงไม่ได้หมายถึง “ความเก่า” กับ “ความใหม่” หรือ “อนุรักษ์นิยม”
กับ “ทุนนิยม” อย่างที่ปลวกตั้งแง่ไว้แต่ต้น
บทกวี
“กุหลาบควรจะอยู่ที่ใด” และ “เพียงแต่ยังไม่ได้ทาสี”
สามารถกลบความเชื่อเดิมของปลวกได้ทันที และเชื่อว่ากว่าจะมารวมเล่มได้นั้น
กวีต้องใช้เวลาตกผลึกมากกว่าเวลาในการเขียน และยังเขียนแต่ละบทขึ้นในต่างเวลาต่างวาระกัน
ซะการีย์ยายังมีความคิดที่ว่ากุหลาบไม่ควรจะอยู่ในแจกัน (สำหรับทุนนิยม—กุหลาบควรจะขายได้ราคาดี—และแจกันควรจะงดงามกว่าพื้นดินซึ่งลำต้นของกุหลาบหยัดยืนอยู่)
และธรรมชาติก็ไม่ควรถูกแปรรูปไป “อยู่ในกรอบไม้สักทองอันเป็นที่สักการะ!”
แต่ถ้าพิจารณาดีๆ ชุดความคิดนี้ก็ไม่ถึงกับหักล้างอุดมการณ์ของเขาสูญสิ้น
เพราะนักอนุรักษ์นิยมบางท่านอาจมีความคิดที่แตกต่างจากเขาโดยสิ้นเชิง—โดยเชื่อว่ากรอบไม้สักทองควรเป็นที่สักการะอยู่ก็เป็นได้
ขอย้อนกลับไปในเรื่องคุณค่าทางวรรณศิลป์ในรวมบทกวี
“ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” ของซะการีย์ยา อมตยา สักเล็กน้อย ปลวกได้อ่านที่นักวิจารณ์หลายท่านสับบทกวีของเขาเละเป็นโจ๊กมาจนเกือบจะเห็นด้วยอยู่รอมร่อ
แต่ก็เมื่อได้อ่านบทกวีที่มีชื่อว่า “กล้าไม้ประหลาด” อีกหน กลับเกิดความขัดแย้งขึ้นมาในใจเป็นอย่างมาก
ในแง่ของวรรณศิลป์ ซะการีย์ยาก็ได้จัดเต็มเอาไว้ไม่หยิ่งหย่อนไปกว่าในแง่ของความหมาย
และปลวกจะไม่อธิบายอะไรเพิ่มเพื่อให้ผู้อ่านเสียอรรถรสกับวรรณศิลป์ล้ำค่าต่อไปนี้
“ท่ามกลางซากปรักหักพังของกาลเวลา
ข้าเนรมิตมหาวิหารจากเถ้าถ่านแห่งยุคสมัย
จินตนาภาพหมู่แมกไม้เป็นเรือกสวนมวลบุปผา
ประดับประดาพวยพุ่งด้วยน้ำพุสิบสองสาย
ไหลกระจายเป็นสายน้ำสิบสองธาร
มุ่งสู่ปลายทางสิบสองสารทิศ”
กระนั้น
บทกวี “ในเงาภาพเหมือน” ก็ถือว่าอ่อนด้อยที่สุดในรวมบทกวีเล่มนี้
ที่ว่าอ่อนด้อยใช่เพราะมันเป็นปัจเจกชนเกินกว่าจะเข้าถึง ทว่าภาษาที่ใช้มีความเยิ่นเย้อจนเกือบจะเป็นบทความได้
และปลวกไม่ใคร่จะยกตัวอย่างมาให้อ่าน—เนื่องด้วยมันยาวยืดจนขี้เกียจพิมพ์ให้เสียอารมณ์นั่นเอง
ทว่าสิ่งที่กวีทิ้งท้ายไว้ตอนจบก็ถือว่าเป็นเงาสะท้อนอันน่าสนใจ
ซึ่งถ้าผู้อ่านท่านใดไม่เห็นด้วย ปลวกแนะนำให้กลับไปอ่านเองจะดีกว่า และก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความคิดเห็นในทัศนะการวิจารณ์ของปลวกอาจไม่ตรงกับจริตท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย
หรือค่อนข้างจะเลยเส้นไปในส่วนมาก ก็ไม่อาจคาดเดาหยั่งถึงได้หมด
และอาจจะเป็นอย่างเช่นนัยความหมายของบทกวี
“ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” ซึ่งเป็นบทกวีชื่อเดียวกับชื่อเล่มซ่อนไว้อยู่ลึกๆ ก็เป็นได้
“เขาตอกแป้นพิมพ์ต่อ
หญิงสาวในความคิด
ความคิดในหญิงสาว
บทกวียังไม่จบ
แต่เขาเห็นหญิงสาวแล้ว!”
สำหรับปลวก
ถ้าจะริอาจวิจารณ์ให้ครบทุกบท—บทวิจารณ์นี้คงยาวยืดจนถึงขั้นเลอะเลือน เช่นเดียวกัน
คุณไม่จำเป็นต้องอ่านบทวิจารณ์นี้ให้จบ และไม่จำเป็นต้องเข้าถึงทุกใจความ ซึ่งปลวกเพ่งสมาธิขั้นสูงรวบรวมมาเพื่อปรารถนาจะสื่อถึงท่านทั้งหลายก็ได้
เช่นปลวกบอกไปแล้วว่า บทกวีย่อมมีความลึกล้ำของมันเอง เราไม่จำเป็นต้องให้คำจำกัดความมันมากมาย
หรือตีความแบบตายตัว บทกวีมีความเป็นปัจเจกสูง จึงไม่จำเป็นต้องเค้นหารูปแบบความหมายเดียวกันกับผู้อื่นใดให้ปวดเศียรเวียนเกล้า
ทว่าในเมื่อท่านผู้อ่านเดินทางตามบทวิจารณ์
“ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” อันเป็นหนังสือรวมเล่มบทกวีรางวัลซีไรท์ประจำปี พ.ศ. 2553
ที่ปลวกชื่นชอบมาถึงจุดนี้อย่างไม่รู้ตัว เชื่อว่าคุณคงเห็น “หญิงสาว” ของซะการีย์ยา
อมตยาเหมือนปลวกแล้ว.