วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555

เมื่อ “กะทิ” กลับมาเป็น “กระแส” อีกครั้ง - จากรางวัลซีไรท์ ปี พ.ศ. 2549 ถึงรางวัลซีไรท์ ปี พ.ศ. 2555

วันนี้ถือเป็นฤกษ์งามยามดีครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การวิจารณ์ หลังจากที่ปลวกได้พูดคุยกับครูบาอาจารย์ นักคิด นักเขียน ผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงวรรณกรรมไทยบางท่าน หลายท่านเชื่ออย่างฝังจิตว่าเหตุที่วงการนี้ซบเซาอย่างหนัก เป็นเพราะขาดการวิพากษ์วิจารณ์ในรูปแบบเจาะลึกถึงแก่น นักวิจารณ์ในอดีตหมดไฟ สำนวนน่าเบื่อไม่ตรงใจวัยรุ่น แล้วนักวิจารณ์หน้าใหม่ไม่ยอมกำเนิดโผล่หัวออกมาจากกระดอง ไม่มีใครกล้าเกิด เพราะหากริอยากเป็นนักเขียนหน้าใหม่ด้วยใจอันแรงกล้า แล้วดันเสือกมาวิพากษ์วิจารณ์งานระดับบรมครู ระดับมาสเตอร์พีซอย่างด้านได้อายอดแล้ว ถือว่าบุคคลผู้นั้นได้ตัดอนาคตของตนลงด้วยตนเอง
“ปลวก” นึกสงสัยมานานแล้ว เหตุใดวรรณกรรมบางเล่มถึงถูกคัดเลือกให้เป็นงานชั้นดี งานชั้นครู งานระดับเบสเซลเลอร์ มียอดพิมพ์เกินหมื่นเกินแสนเล่ม ขณะหนังสือบางเล่มจมปลักอยู่ในชั้นล่างสุด ขายไม่ออกบอกไม่ถูก ทั้งที่ยอดตีพิมพ์ไม่เกินหนึ่งพันเล่มด้วยซ้ำ (แว่วๆ ข่าวมาว่าบางเล่มไม่เกินหนึ่งร้อย) เราเอาอะไรมาวัดหนังสือดีกับหนังสือเลวกันแน่ หรือว่าตราแจ่มใสกับซีไรท์คือคำตอบเพียงประการเดียว หลายเหตุผลยังวนเวียนวกวน หากก็ไม่กระจ่างชัดสักที แม้ปลวกจะลงทุน ลงแรง ลงใจยอมซื้องานเล่มซึ่งขึ้นชื่อว่าดีเลิศประเสริฐศรีมาบรรจงอ่านอย่างประณีต หากก็ใช่ว่างานเล่มนั้นจะดีล้ำอย่างคำสื่อประโคมจริง เพื่อนในแวดวงบางท่านถึงกับกระแดะแนะนำหนังสือเลิศหรูอลังการเหล่านี้ให้อ่าน ทั้งทางตรงและทางอ้อม สุดท้ายพอซื้อมาอ่านจริง ปลวกยังนึกสงสัยว่าที่เขาชื่นชมกันอย่างฟุ่มเฟือย เขาเหล่านั้นชื่นชมเพราะตัวหนังสือมันดีจริง หรือเพราะเขาอ่านแต่เรื่องย่อในเว็บไซต์ หรืออ่านแต่เพียงคำประกาศของคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรท์ประจำปีนั้นๆ กันแน่
มีหนังสือไม่กี่เล่มหรอกยังตรึงอยู่ในความทรงจำของนักอ่านกะโหลกกะลาอย่างปลวก จากอดีตจนถึงปัจจุบัน บางเล่มดีจริง บางเล่มพยายามอ่านให้มันดีอย่างคำเขาว่า วันนี้ปลวกขอกล่าวถึงหนังสือประเภทหลังก่อนใครเพื่อน ก็ไม่รู้ว่าพอวิจารณ์ไปแล้วจะมีใครลุกฮือขึ้นมาต่อต้านหรือเปล่า เพราะนักเขียนคนนี้ค่อนข้างมีชื่อเสียงทีเดียว แต่ปลวกได้ยึดมั่นในสโลแกน “เกิดมาเป็นปลวก...มีหน้าที่แทะวรรณกรรมอย่างด้านได้อายอด” เสียแล้ว โดยเฉพาะคนที่กล้าใช้นามปากกาในการวิจารณ์ว่า “ปลวก วรรณกรรม” อย่างปลวก มันไม่เลือกหรอกว่าจะแทะหนังสือใหม่หรือหนังสือเก่า หวังว่าคงไม่มีอะไรเสียหายเกินควร
ครั้งแรกปลวกอ่าน “ความสุขของกะทิ” ขณะงามพรรณ เวชชาชีวะ ได้รางวัลซีไรท์ประจำปี พ.ศ. 2549 ใหม่หมาด กระแสหนังสือเล่มนี้ต้องเรียกว่าครึกโครมมาก ตีพิมพ์ซ้ำอย่างรวดเร็ว วางโดดเด่น ณ ห้องสมุดทุกแห่งทุกหน ด้วยกระแสอันรุนแรง ทำให้ปลวกคันไม้ คันมือ คันสายตาอยากอ่านมันขึ้นมาทันทีทันใด เพียงบทแรก...ปลวกก็ตั้งคำถามในใจเงียบๆ ว่าตกลงหนังสือเล่มนี้มันดีจริงหรือเปล่า ขณะนั้นปลวกไม่เคยอ่านงานประเภทนี้มาก่อน งานที่ปลวกอ่านส่วนใหญ่แนวระเบียบแบบแผน มีรูปแบบชัดเจน แต่หนังสือความสุขของกะทิ บางบทสนทนางามพรรณ เวชชาชีวะเล่าอย่างโดดๆ ไม่มี “...” คั้นด้วยซ้ำ รูปประโยคสั้นกระชับ อย่างที่นักเขียนกิตติมศักดิ์บางท่านชมอย่างเกินจริงว่า “สั้น แต่สั่นอารมณ์” สำหรับปลวกมันสั้นกุดเกิน จนขัดอารมณ์บางจังหวะวรรคตอน ยังแอบคิดจิกกัดในใจอยู่เลยว่างามพรรณ เวชชาชีวะรีบแต่ง รีบตีพิมพ์หรืออย่างไร เหตุใดจึงไม่ขัดเกลาสำนวนเสียหน่อย ยิ่งปลวกมารู้ข้อมูลในภายหลังว่านักเขียนรีบแต่งจริงอะไรจริง เพราะมีบางบทสัมภาษณ์ยืนยันว่างามพรรณ เวชชาชีวะใช้ความพยายามในการเขียน “ความสุขของกะทิ” ให้ได้วันละหนึ่งตอน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนักเขียนผู้ใฝ่หาความประณีตในงานวรรณกรรมของตน
รู้อยู่หรอกว่าเราไม่สามารถใช้วิธีการเขียนอันเป็นรูปแบบเฉพาะตัวข้อนี้มาตัดสินนักเขียนท่านใดท่านหนึ่งได้ แต่ก็ยังแอบสงสัยในใจไม่น้อยว่าพองามพรรณ เวชชาชีวะ เขียน “ความสุขของกะทิ” เสร็จ มีเวลารีไรท์ตรวจสำนวนตนเองหรือเปล่า หรือควรปล่อยให้นักวิจารณ์ผู้คล้อยตามตราประทับอันทรงพลังอำนาจบางท่านตีความกันเองอย่างฉาบฉวย (ตามผู้แต่ง) ว่ามันเป็นงานเขียนเรียบง่าย สวยงาม ซื่อๆ ใสๆ บริสุทธิ์ผุดผ่อง!

จากรางวัลซีไรท์ประจำปี พ.ศ. 2549 ถึงรางวัลซีไรท์ประจำปี พ.ศ. 2555 เป็นเรื่องสามัญเมื่อฤดูกาลซีไรท์วนมาถึงปีนวนิยายเมื่อใด สื่อมวลชน นักอ่าน นักเขียน รวมถึงประชาชนทั่วไปมักให้ความสนใจกับรางวัลนี้มากเป็นพิเศษ จากยอดจำหน่าย หนังสือสามประเภทซึ่งได้รับรางวัลอันทรงเกียรติอย่างต่อเนื่อง วนประกวดปีต่อปี ได้แก่ นวนิยาย บทกวี และเรื่องสั้น หนังสือประเภทนวนิยายถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุด การันตีได้ด้วยจำนวนยอดพิมพ์ซ้ำมหาศาล กระจายสู่ห้องสมุดโรงเรียน มหาวิทยาลัย ห้องสมุดสาธารณะ และสาธารณะชนอย่างรวดเร็ว
สำหรับปี พ.ศ. 2555 ปีนี้ รู้สึกว่าในแวดวงนักอ่านจะคึกคัก ระริกระรี้ มีกระแสครึกโครมตั้งแต่รายชื่อหนังสือส่งเข้าชิงรางวัลแล้ว ข้อมูลดังกล่าวกระจายสู่สื่อมวลชนเร็วปานวอก กระแสแรกคือแดนอรัญ แสงทอง เจ้าของนวนิสาย “อสรพิษ” ซึ่งได้รับความสนใจในต่างประเทศอย่างยิ่งยวด  ส่งเรื่อง “เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง” เข้าชิงกับเขาด้วย แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นกลับเป็น 73 รายชื่อนวนิยายที่ส่งประกวดรางวัลซีไรท์ ปี พ.ศ. 2555 มีนวนิยายจากอดีตนักเขียนซีไรท์ส่งชิงถึงห้าเล่ม ห้าคนด้วยกัน
ได้แก่ มาลา คำจันทร์ เจ้าของนวนิยายซีไรท์ ปี พ.ศ. 2534 เจ้าของผลงานเรื่อง เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน” ส่งเรื่อง “ลูกข้าวนึ่ง” เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ กวีซีไรท์ ปี พ.ศ. 2547 เจ้าของผลงานเรื่อง “แม่น้ำรำลึก” ส่งเรื่อง “นักเข้าฝัน”  มนตรี ศรียงค์ กวีซีไรท์ ปี พ.ศ. 2550 เจ้าของผลงานเรื่อง โลกในดวงตาข้าพเจ้า” ส่งเรื่อง “รุสนี”  อุทิศ เหมะมูล เจ้าของรางวัลนวนิยายซีไรท์ ปีล่าสุด พ.ศ. 2552 เจ้าของผลงานเรื่อง ลับแล,แก่งคอย” ส่งเรื่อง “ลักษณ์อาลัย” และงามพรรณ เวชชาชีวะ เจ้าของนวนิยายซีไรท์ ปี พ.ศ. 2549 เจ้าของผลงานเรื่อง ความสุขของกะทิ” ส่งเรื่อง “เพลงนก”
ด้วยชื่อเสียงเรียงสกุลของนักเขียนท่านสุดท้าย จากอดีตซีไรท์ทั้งห้าเล่ม ห้าคน ส่งผลให้ “กะทิ” กลับมาเป็น “กระแส” อีกระลอก และแน่นอนเป็นที่สุดว่าบัดนี้นักอ่านแนว “หนอนวรรณกรรม” มิเป็นอันกระเสือกกระสนหา “เพลงนก” มาอ่านอย่างชอนไช สาเหตุเพราะกลัวฉลาดน้อยกว่านักอ่านท่านอื่น หรือไม่ก็กลัวคณะกรรมการประกาศนวนิยายเข้ารอบสุดท้ายเสียก่อนอ่านจบก็ไม่ทราบแน่
ที่ “ปลวกวรรณกรรม” ตระหนักแน่ชัดเป็นที่สุด แน่นอนว่าถ้าหนังสือนวนิยายเรื่อง “เพลงนก” ของงามพรรณ เวชชาชีวะ กระโดดเข้ารอบสุดท้ายตามความคาดหมาย ย่อมเป็นกระแสใหญ่กว่านี้โคตรๆ เพราะขนาดแค่ประกาศรายชื่อผู้ส่งเข้าชิง ปลวกก็ยังมิวายเสาะหาหนังสือของนักเขียนนามกระฉ่อนมา “แทะ” ด้วยความรีบเร่ง เรื่องของเรื่องคือกลัวตกกระแสนั่นเอง

ย้อนกลับสู่ประเด็นเดิม ด้วยความดังกระหึ่มของนวนิยายรางวัลซีไรท์ประจำปี พ.ศ. 2549 นักวิจารณ์ส่วนหนึ่งได้นำ “ความสุขของกะทิ” ไปล้อเลียนในรูปแบบบทความ คอลัมน์อันเลื่องชื่อลือนาม หนึ่งในนั้นคือคำ ผกา คอลัมน์นิสต์แนวจิกกัด นักสตรีนิยมที่แรงที่สุดในยุค
สำหรับปลวกแล้ว ถ้าถามว่า “ความสุขของกะทิ” มีเรื่องชนชั้นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ปลวกยังตะขิดตะขวงใจสำหรับคำตอบ หลังจากอ่านจบ ปลวกรู้ในทันทีว่างามพรรณ เวชชาชีวะไม่ได้ตั้งใจสื่อให้คนอ่านเข้าใจเรื่องของชนชั้น ฐานะ เพียงต้องการสื่อให้คนอ่านเข้าใจกึ่งไม่เข้าใจในความสุขอันลึกล้ำของกะทิ ความสุขแบบพอเพียง แบบซื่อใส สังคมกึ่งชนบทกึ่งเมือง กึ่งๆ กลางๆ ความสุขที่กะทิมีบ้านริมคลอง ความสุขที่กะทิได้ไปเยี่ยมแม่ที่ล้มป่วยด้วยโรคร้ายและกำลังจะตายจากโลกนี้ไปอย่างแสนเศร้า ความสุขที่กะทิได้เปิดลิ้นชักแห่งความทรงจำของแม่ ความสุขที่กะทิได้รู้ลึกถึงที่มาที่ไปของตัวเอง โดยข้ามประเด็นที่แม่กะทิเป็นอดีตทนายความชื่อดัง ข้ามประเด็นที่คุณตาของกะทิเป็นที่นับหน้าถือตาในสังคมนั้นๆ ข้ามประเด็นที่พี่ทองของกะทิเป็นเด็กวัดยากจน เอ๊ะ แต่ทำไมกะทิถึงเรียนโรงเรียนวัดล่ะ กะทิน่าจะเรียนโรงเรียนนานาชาตินะ หรือนี่คือเสน่ห์และแก่นแท้ของหนังสือเล่มนี้ ส่งผลให้ “ความสุขของกะทิ” ของงามพรรณ เวชชาชีวะทะยานขึ้นสู่จุดสำเร็จสูงสุด ตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก คงไม่ใช่เพราะ “ความสุขของกะทิ” เล่มบาง กะทัดรัด หาซื้อง่าย และมีตราซีไรท์ประทับโดดเด่นหรอก
แต่บางขณะนักอ่านบางท่านก็ยังคงไม่เข้าใจจนถึงทุกวันนี้ว่า ทำไม “แม่ไม่เคยสัญญาว่าจะกลับมา” บางท่านในที่นี้อ่านไม่จบบทแรกด้วยซ้ำ แต่เมื่อมีคนถามว่าหนังสือเรื่อง “ความสุขของกะทิ” เป็นหนังสือดีหรือไม่ คุณคิดว่าเขาเหล่านี้จะตอบว่าอย่างไร?

อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ “ความสุขของกะทิ” ของงามพรรณ เวชชาชีวะบูมสุดๆ เพราะในช่วงนั้น นวนิยายซึ่งผ่านเข้ารอบสุดท้ายซีไรท์ ปี พ.ศ. 2549 ทั้ง 10 เล่ม ต้องเรียกว่าต่างมีกระแสของตนเองหลากหลาย ทั้งแนวหนัก แนวเบา แนวการเมือง แนวปัญหาชายแดนใต้ แนวทะเล จนถึงแนวพระเครื่อง บางเล่มต้องเรียกว่าหนักจนคนอ่านเบลอ แทบสลบ บางเล่มกินกันไม่ลง บางเล่มแดกอ้วกตัวเองก็ยังมี
สำหรับนักอ่านแนว “ฮาร์ดคอร์” แล้ว หลายกระแสกราดด่าว่าเล่มที่อ่อนที่สุดในปีนั้นไม่ใช่เรื่องอื่นใดอีกแล้วนอกจาก “ความสุขของกะทิ” ของน้องสาวนักการเมืองชื่อดังนามสกุลเดียวกัน “ร่างพระร่วง” ของเทพศิริ สุขโสภา เหมือนจะมาแรงสุดในกระแสของคณะกรรมการ ชนิดภาณุ ตรัยเวช ผู้เขียน “เด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์” ซึ่งเข้ารอบสุดท้ายเช่นเดียวกัน ถึงกับเอ่ยปากชื่นชมเล่มนี้เบาๆ ในภายหลัง แม้จะมีนักเขียนนักวิจารณ์ฝรั่งเศสท่านหนึ่งสาดเสียตรงไปตรงมาอย่างไม่สนกระแสว่าทั้ง 10 เล่มไม่มีงานระดับมาสเตอร์พีซ โดยเฉพาะ “ร่างพระร่วง” ของเทพศิริ สุขโสภา และ “เด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์” ของภาณุ ตรัยเวช ทั้งสองเล่มเป็นงานซึ่งเขาไม่ประทับใจถึงขีดสุด บางเล่มต้องทนอ่านให้จบทีเดียว เช่นเรื่อง “นอน” ของศักดิ์ชัย ลัคนาวิเชียร เมื่ออ่านไปถึงตอนที่ผู้เขียนบรรยายกิริยาของตัวละครไม่ต่างจากสัตว์ที่เลียกินอาเจียนของตัวเอง เขาถึงกับตัดสินว่านี่คือวรรณกรรมขยะของแท้และดั้งเดิม
สำหรับแวดวงนักอ่านไทยแล้ว ส่วนใหญ่ประทับใจ “ร่างพระร่วง” ของเทพศิริ สุขโสภา “เด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์” ของภาณุ ตรัยเวช และ “นอน” ของศักดิ์ชัย ลัคนาวิเชียรมากกว่า

จริงๆ ปลวกอยากพูดถึงในส่วนภาพยนตร์ด้วย ก็ไม่ทราบว่างามพรรณ เวชชาชีวะอนุญาตให้เอาหนังสือเล่มนี้ไปทำหนังได้อย่างไร รู้กันอยู่ว่าประเด็นใน “ความสุขของกะทิ” แทบจะเป็นประเด็นเล็กน้อย แต่งดงาม (อย่างที่นักวิจารณ์บางท่านกล่าว) มีช่วงหนึ่งปลวกรู้สึกขัดอารมณ์มาก (แต่ก็ยังอุตส่าห์หามาดูจนได้) ผู้กำกับยัดเยียดให้คนดูสุดๆ โดยการโปรยตัวหนังสือรางๆ โชว์ขึ้นอย่างน่าอารมณ์เสีย ประโยคนั้น ได้แก่ “แม่ไม่เคยสัญญาว่าจะกลับมา” เป็นต้น
มีผู้ตั้งข้อสงสัยทั่วบ้านทั่วเมืองว่าภาพยนตร์เรื่อง “ความสุขของกะทิ” กะทิมีความสุขอยู่คนเดียวรึเปล่า เพราะคนดูไม่มีความสุขเลย
ใครที่คิดว่าปลวกเขียนมั่ว วิจารณ์มั่ว ไม่รู้จริง ไม่มีข้อมูลอ้างอิง สงสัยอะไรก็ลองไปเสิร์ชหาดูแล้วกัน หรือใครไม่พอใจที่ปลวกเสือกวิจารณ์งานในใจคุณ จงกลับไปอ่านประโยคแรกของบทวิจารณ์นี้ใหม่ซะ แต่ก็ยอมรับตามตรงว่าปลวกอ่าน “ความสุขของกะทิ” จนจบ แม้จะจบอย่างเชื่องช้าเป็นเดือน แต่ก็อ่านซ้ำ อ่านซากอยู่นานปี ถือว่าเป็นหนังสือเล่มนี้มีทั้งข้อดีและข้อด้อยปนเป
ครั้งหนึ่งปลวกพยายามสอนน้องตัวเล็กๆ แถวบ้านอ่านหนังสือให้ออก ปลวกก็ไม่รู้จะให้เด็กเริ่มอ่านเริ่มอะไรก่อน พอค้นตู้หนังสือก็พลันเจอะเข้ากับ “ความสุขของกะทิ” ของงามพรรณ เวชชาชีวะ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน ปลวกหยิบมาให้เด็กอ่านได้เพียงประโยคแรกเท่านั้น จากนั้นจึงแนะนำให้จงไปหาอ่าน “ตามารถไฟ” เสียดีกว่า
ปลวกรู้สึกเห็นใจเด็กผู้ยังอ่านหนังสือไม่ค่อยจะออกอย่างหนัก เพราะถ้าปลวกอายุเท่าน้องของปลวก ขืนแม่บังคับให้อ่าน “ความสุขของกะทิ” จนจบเล่ม คุณแน่ใจหรือว่าเด็กจะอ่านสำนวนเริ่มเรื่องที่ว่า “...เสียงกระทะกับตะหลิวปลุกกะทิให้ตื่นขึ้นเหมือนวันก่อนๆ ที่จริงแล้วกลิ่นหอมกรุ่นๆ ของข้าวสุกก็มีส่วนด้วย รวมทั้งกลิ่นควันจากเตาและกลิ่นไข่ทอด แต่เสียงตะหลิวเคาะกระทะต่างหากที่ดึงกะทิให้พ้นจากภวังค์นิทราและภาพฝันสู่วันใหม่...” จบเรื่อง.